08 Nov น้ำหนักตัว มวลกล้ามเนื้อ กับ มะเร็ง
เมื่อพูดถึงปัญหาทางโภชนาการที่สำคัญในคนไข้มะเร็ง ปัญหาอันดับต้น ๆ ที่มักจะพบเจอได้ก็คือเรื่องของภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ค่ะ งานวิจัยระบุว่า ตั้งแต่เริ่มต้นวินิจฉัย ตรวจพบมะเร็ง ประมาณ 50% ของคนไข้ก็เริ่มมีปัญหาทางโภชนาการแล้วค่ะ และในโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน อุบัติการณ์ของภาวะทุพโภชนาการอาจจะมากถึง 85% เลยค่ะ (คนไข้สิบคน มีทุพโภชนาการเกือบเก้าคน)
ทุพโภชนาการแล้วทำไม?
ทำไมปัญหาทุพโภชนาการถึงเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ ก็เพราะเราพบว่าการเกิดภาวะทุพโภชนาการในคนไข้มะเร็ง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง โอกาสในการติดเชื้อระหว่างการรักษาเพิ่มสูงขึ้น หากมีการผ่าตัดร่วมด้วย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และการฟื้นตัวก็จะช้าขึ้นค่ะ และที่สำคัญที่สุดคือจะลดประสิทธิผล รวมถึงเพิ่มผลข้างเคียงของการรักษา (เคมีบำบัด – รังสีรักษา) จนอาจจะต้องยืดระยะเวลาในการรักษาออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยค่ะ เพราะนอกจากจะเพิ่มค่าใช้จ่ายแล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทั้งคนไข้และผู้ดูแลอีกด้วย
น้ำหนักตัวกับภาวะทุพโภชนาการ
ตัวชี้วัดหนึ่งที่ค่อนข้างมีความสำคัญในการวินิจฉัยภาวะทุพโภชนาการ ก็คือน้ำหนักตัวที่ลดลงไปโดยไม่ได้ตั้งใจนั่นเองค่ะ ข้อมูลพบว่าน้ำหนักที่ลดลงโดยไม่ตั้งใจ แม้เพียง 5% ก็สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้นค่ะ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากเลยที่เราจะต้องดูแลน้ำหนักตัวให้คงที่ เพื่อให้การรักษามะเร็งทำได้อย่างต่อเนื่องค่ะ
แต่จากการศึกษาลึกลงไปเกี่ยวกับน้ำหนักตัวในคนไข้มะเร็ง เราพบว่าส่วนที่สำคัญคือมวลกล้ามเนื้อค่ะ ต้องเล่าก่อนว่าน้ำหนักตัวของคนเราจะประกอบด้วยองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งมวลไขมัน มวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก และอื่น ๆ ที่ประกอบกันเป็นร่างของเราค่ะ งานวิจัยพบว่ามวลกล้ามเนื้อมักเป็นส่วนที่มีการลดลงอย่างมากในคนไข้มะเร็งค่ะ มวลกล้ามเนื้อที่ลดลง สัมพันธ์กับโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาที่เพิ่มสูงขึ้น คนไข้ที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยจึงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถทนขนาดยาเคมีบำบัดที่สูง ๆ ได้ หรือจำเป็นต้องชะลอการให้ยาออกไปแทนที่จะได้ตามกำหนด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตต่ำลงค่ะ
มวลกล้ามเนื้อน้อยพบได้ในทุกน้ำหนักตัว
เนื่องจากการวัดมวลกล้ามเนื้อนั้นทำได้ยากในทางปฏิบัติ (อย่างไรก็ตามเริ่มมีการวัดองค์ประกอบของร่างกายที่เรียกว่า Bioelectrical Impedance Analysis หรือ BIA ใช้งานกันมากขึ้นตามโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วนะคะ) เราจึงมักใช้น้ำหนักตัวเป็นตัวชี้วัดหลัก ๆ เนื่องจากทำได้ง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่ายมากค่ะ อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ ครั้ง เราไม่สามารถดูแค่ตัวเลขน้ำหนักแล้วประเมินภาวะโภชนาการได้เลยนะคะ เพราะคนไข้มะเร็งที่มีน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน ก็ไม่ได้หมายความว่ามวลกล้ามเนื้อจะมากตามนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้มะเร็งที่มีน้ำหนักเกินมาก ๆ แล้วน้ำหนักลดลงโดยไม่ตั้งใจ ถึงแม้จะลดเยอะ แต่โดยภาพรวมคนไข้ก็จะยังคงดูรูปร่างใหญ่อยู่ ทำให้หลาย ๆ ครั้งเราคิดว่าคนไข้ไม่มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจริง ๆ แล้วคนไข้เกิดภาวะทุพโภชนาการแล้ว ก็มีนะคะ
ภาพตัวอย่างในรูปด้านบนคือภาพตัดขวาง CT Scan ของคนไข้มะเร็งสามคนที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) แตกต่างกัน คนไข้ด้านซ้ายสุดมี BMI = 17 (ผอม) คนกลางมี BMI = 25 (น้ำหนักเกิน) และคนขวามี BMI = 38 (อ้วน) จะสังเกตว่าแถบสีแดง ๆ (ซึ่งก็คือมวลกล้ามเนื้อ) แทบไม่แตกต่างกันเลยค่ะในคนไข้ทั้งสามราย ส่วนที่แตกต่างคือส่วนของสีเหลือง (ไขมันในช่องท้อง) และสีฟ้า (ไขมันใต้ผิวหนัง) เท่านั้นค่ะ นั่นก็หมายความว่า ด้วยเหตุผลที่มวลกล้ามเนื้อที่เท่ากัน คนไข้ทางขวาจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากการรักษาไม่แตกต่างจากคนซ้ายเท่าไหร่เลยค่ะ
ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่ป้าอยากจะเน้นสำหรับวันนี้ก็คือ น้ำหนักตัวเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญในการประเมินภาวะโภชนาการของคนไข้มะเร็งนะคะ อย่างไรก็ตาม การดูเพียงแค่ตัวเลขน้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถระบุได้ถึงปริมาณมวลกล้ามเนื้อโดยตรง (จากตัวอย่างที่ได้เห็นในรูป) ดังนั้นในการประเมินน้ำหนักตัว จำเป็นต้องประเมินประวัติน้ำหนักควบคู่ไปด้วยเสมอค่ะ ดูว่ามีประวัติน้ำหนักลดลงโดยไม่ตั้งใจหรือไม่ ถ้ามี หรือเริ่มเห็นสัญญาณของน้ำหนักตัวที่ลดลง ก็แสดงว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการ ไม่ว่าน้ำหนักตั้งต้นหรือน้ำหนักปัจจุบันจะน้อย ปกติ หรือมากก็ตามค่ะ 🙂