ทำอย่างไรเมื่อคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด?

ทำอย่างไรเมื่อคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด?

ภาวะคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของการให้เคมีบำบัด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากในกลุ่มคนไข้มะเร็งค่ะ จากการสำรวจคนไข้มะเร็งในประเทศไทย โดย รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช พบว่าคนไข้ที่ได้เคมีบำบัดร้อยละ 100 มีอาการคลื่นไส้อาเจียน (จะพูดว่าแทบทุกคนที่ได้เคมีบำบัดจะต้องเจอก็ว่าได้ค่ะ) ดังนั้นปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่สำคัญมาก การดูแลทางโภชนาการเองก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงของภาวะคลื่นไส้อาเจียนได้ วันนี้ป้าจึงขออนุญาตมาเล่าให้ฟังค่ะ

อาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด

อาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภทคือ คลื่นไส้อาเจียนก่อนได้รับเคมีบำบัด (anticipatory) หลังได้รับเคมีบำบัดภายใน 24 ชั่วโมง (acute) และหลังได้รับเคมีบำบัด 1 – 4 วัน (delayed) ซึ่งยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดก็ส่งผลแตกต่างกันค่ะ เพราะฉะนั้นบางคนได้เคมีบำบัดแล้วยังไม่มีอาการทันที ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอาการในภายหลังนะคะ ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องค่ะ

โดยทั่วไป คนไข้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนสูง จะได้รับยาในกลุ่มของคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น Dexamethasone หรือยากลุ่ม serotonin antagonists, dopamine antagonists เพื่อลดผลข้างเคียงเรื่องภาวะคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งขนาดยาก็จะแตกต่างกันไปตามความเสี่ยงและความรุนแรงของอาการค่ะ

การดูแลทางโภชนาการในคนไข้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน

สำหรับเรื่องของอาหารและโภชนาการ เราคงไม่มีอาหารที่กินแล้วจะป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนได้ แต่จุดมุ่งหมายของการดูแลทางโภชนาการ คือช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนให้น้อยลง และให้คนไข้ได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ (โดยเฉพาะโปรตีนค่ะ) คำแนะนำโดยทั่วไปก็คือ

  1. รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยครั้ง อาการคลื่นไส้จะเกิดขึ้นน้อยกว่าการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ ค่ะ
  2. ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำเย็นทีละน้อย ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ค่ะ บางคนอาจจะเลือกจิบน้ำขิง ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ลองได้ค่ะ อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของขิงในการลดอาการคลื่นไส้อาเจียนยังไม่ชัดเจนนะคะ ว่าต้องรับประทานในรูปแบบในในปริมาณเท่าใดจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดค่ะ
  3. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง มันจัด เผ็ดจัด หวานจัด กลิ่นแรง เพราะอาหารที่มีรสชาติและกลิ่นที่ค่อนข้างรุนแรงอาจจะทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงมากขึ้นค่ะ โดยเฉพาะในวันที่ได้ยาเคมีบำบัด ควรรับประทานอาหารรสอ่อน ๆ ลักษณะนุ่ม ย่อยง่ายค่ะ
  4. ถ้ากินอาหารได้น้อย อาจพิจารณาเลือกใช้อาหารทางการแพทย์เป็นมื้อว่างเพื่อให้ได้รับพลังงานและโปรตีนมากขึ้นได้ค่ะ

สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงคือ รูปแบบอาการคลื่นไส้อาเจียนของคนไข้แต่ละรายจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้วิธีการดูแลเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนมีความแตกต่างกันด้วยค่ะ ดังนั้น ในทางปฏิบัติ อาจจะต้องใช้วิธีการทดลองทำหลาย ๆ วิธี แล้วหาแนวทางที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายมากที่สุดค่ะ 🙂

ขอให้ทุกท่านรับประทานอาหารอย่างปลอดภัยและมีความสุขค่ะ 🙂
ป้า รักจักรวาล
บทความโดย เพจ ป้าเป็นนักกำหนดอาหาร Neo-mune.com
อ้างอิง
Angkatavanich J, et al. PP081-SUN Study on food acceptance and food ingredients of choice in cancer patients receiving chemotherapy. Clin Nutr (Suppl). 2011; 6(1): 54.
Bozetti F. Basics in Clinical Nutrition: Nutritional support in cancer. e-SPEN. 2010; 5(3): e148-52.
Lee J, Oh H. Ginger as an antiemetic modality for chemotherapy-induced nausea and vomiting: a systematic review and meta-analysis. Oncol Nurs Forum. 2013; 40(2): 163-70.
Maceira E, Lesar TS, Smith HS. Medication related nausea and vomiting in palliative medicine. Ann Palliat Med. 2012; 1(2): 161-76.